ข่าวประชาสัมพันธ์

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ห่วงเด็กเล็ก และเด็กวัยเรียนได้รับผลกระทบต่อสุขภาพจากสภาพอากาศที่มีปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 แนะพ่อแม่ ผู้ปกครอง และครู เฝ้าระวังเด็กกลุ่มเสี่ยงและเด็กที่มีโรคประจำตัว เพื่อป้องกันมลพิษทางอากาศ และให้เช็คค่าฝุ่นทุกครั้งก่อนออกจากบ้าน

63-12-17-2

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่โรงเรียนวัดทรงธรรม จ.สมุทรปราการ รณรงค์ป้องกันฝุ่น PM2.5 ว่า สถานการณ์ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะใน จ.สมุทรปราการ พบค่าเกินมาตรฐาน ซึ่ง ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นางสาวเรวดี รัศมิทัต มีความห่วงใยสุขภาพประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเล็ก และเด็กวัยเรียนที่อาจสัมผัสกับมลพิษทางอากาศในระดับสูง ทำให้มีความเสี่ยงต่อโรคเรื้อรังในระยะยาว เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ รวมทั้งส่งผลต่อพัฒนาการทางระบบประสาทและความสามารถทางปัญญาของเด็ก เนื่องจากปอดของเด็กยังพัฒนาไม่เต็มที่ทำให้มีอัตราหายใจที่ถี่กว่า พ่อแม่ ผู้ปกครอง และครู จึงควรดูแลและสังเกตอาการของเด็กทั้งกลุ่มปกติและเด็กที่มีโรคประจำตัวอย่างใกล้ชิด โดยให้เลี่ยงทำกิจกรรมหรือออกกำลังกายกลางแจ้ง จัดห้องในบ้านหรือในโรงเรียนให้เป็นห้องปลอดฝุ่น และลดกิจกรรมที่ทำให้เกิดฝุ่น เช่น การจุดธูป ปิ้งย่าง เผาขยะ เผาเศษใบไม้ เป็นต้น หากพบเด็กหรือบุคคลในครอบครัว มีอาการผิดปกติ เช่น ไอบ่อย หายใจลำบาก หายใจถี่ หายใจไม่ออก หายใจมีเสียงวี้ด แน่นหน้าอก เจ็บหน้าอก ใจสั่น คลื่นไส้ เมื่อยล้าผิดปกติ หรือวิงเวียนศีรษะ ให้รีบพาไปพบแพทย์ ส่วนผู้ที่มีโรคประจำตัวควรเตรียมยาประจำตัวและอุปกรณ์ที่จำเป็นให้พร้อมอย่างน้อย 5 วัน และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า สำหรับการจัดทำห้องปลอดฝุ่นในบ้านหรือในโรงเรียนนั้น สามารถดำเนินการได้ดังนี้
1) ให้เลือกห้องที่ห่างจากถนน ลานจอดรถ พื้นที่ก่อสร้าง หรือกิจกรรมอื่นที่เป็นแหล่งกำเนิดควัน และเป็นห้องที่มีช่องว่างของประตู หรือหน้าต่างน้อยที่สุด 2) ทำความสะอาดห้อง โดยใช้ผ้าชุบน้ำแทนการใช้ไม้กวาด 3) ปิดช่องหรือรูที่อากาศภายนอกจะเข้ามา และ 4) เปิดพัดลมหรือเครื่องปรับอากาศเพื่อหมุนเวียนอากาศภายในห้อง และไม่ควรทำกิจกรรมที่จะก่อให้เกิดฝุ่นหรือควันเพิ่มขึ้นในห้อง เปิดเครื่องฟอกอากาศ เพื่อช่วยลดฝุ่นละอองในห้อง (ถ้ามี) ส่วนห้องที่มีเครื่องปรับอากาศ ควรตรวจสอบและทำความสะอาดแผ่นกรองทุกเดือน ล้างเครื่องปรับอากาศอย่างน้อย 6 เดือนต่อครั้ง
“ทั้งนี้ ก่อนพาเด็กออกนอกบ้าน ให้ติดตามสถานการณ์คุณภาพอากาศด้วยการดูค่า PM2.5 หรือค่า AQI ได้ที่เว็บไซต์ air4thai.pcd.go.th หรือแอปพลิเคชั่น “Air4Thai” ของกรมควบคุมมลพิษ หรือติดตามการแจ้งเตือนพื้นที่เสี่ยงฝุ่น PM2.5 จากเฟซบุ๊กเพจ “คนรักอนามัย ใส่ใจอากาศ PM2.5” ของกระทรวงสาธารณสุข โดยให้สังเกตที่สีเป็นหลัก หากเป็นสีส้มและสีแดง ซึ่งเป็นค่าฝุ่นละอองที่เกินมาตรฐานและมีผลกระทบต่อสุขภาพ ควรให้เด็ก สวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันด้วย” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

Please follow and like us:
0 Comments

Boss

Reply your comment

Your email address will not be published. Required fields are marked*

RSS
Follow by Email
YouTube
LinkedIn
Share
Instagram