ข่าวประชาสัมพันธ์

ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจัดพื้นที่อำนวยความสะดวกผู้โดยสารในการ Download Application AOT Airport เพื่อบันทึกข้อมูลในใบ ต.8 ช่วยในการติดตามตัว รวมทั้งจัดระเบียบพื้นที่ให้บริการสนับสนุนการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID -19

63-03-25

นายกิตติพงศ์ กิตติขจร รองผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (สายปฏิบัติการ 1) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ในประเทศไทยในปัจจุบัน มียอดจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก และกระทรวงสาธารณสุขได้มีมาตรการเฝ้าระวังการระบาดของโรคดังกล่าว โดยให้ผู้โดยสารทุกคนที่เดินทางมาจากท้องที่นอกราชอาณาจักรต้องดาวน์โหลดและลงทะเบียน “AOT Airports” Application และต้องกรอกข้อมูลในแบบฟอร์ม ต.8 ดังนั้น เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกผู้โดยสารขาเข้าระหว่างประเทศ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) จึงได้มีการจัดพื้นที่จำนวน 3 จุด ได้แก่ 1. บริเวณหน้า Gate D8 2. บริเวณตรงข้ามทางขึ้น Bus Gate D5 และ 3. บริเวณ ชั้น 2 ตรงจุดตัดฝั่งตะวันออก โดยได้จัดให้มีพนักงาน Airport Service คอยอำนวยความสะดวกและให้คำแนะนำผู้โดยสารในการ Download Application ให้เป็นไปด้วยความรวดเร็ว ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวจะมีความกว้างขวางกว่าเดิม ช่วยลดความคับคั่งและความหนาเแน่นในการเข้าคิวก่อนเข้าจุดตรวจหนังสือเดินทาง และถือเป็นการร่วมสนับสนุนการลดความเสี่ยงโดยเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) อีกด้วย
นายกิตติพงศ์ กล่าวว่า ตามที่สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ได้ออกประกาศเรื่องเเนวปฏิบัติสำหรับผู้ดำเนินการเดินอากาศที่ทำการบินมายังประเทศไทย โดยประกาศดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เวลา 00.01 น. ของวันที่ 22 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้ผู้โดยสารที่เดินทางมาจากทุกประเทศทั่วโลกต้องถูกคัดกรองอย่างเข้มข้นตั้งแต่สถานีต้นทาง และเมื่อถึง ทสภ. จะต้องถูกคัดกรองตรวจวัดอุณหภูมิอย่างละเอียด ทสภ. ได้มีการจัดเตรียมห้อง Holdroom ของ Gate D3 และ D4 ไว้เป็นพื้นที่พักคอยสำหรับผู้โดยสารชาวต่างชาติที่ถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าเมือง โดยต้องถูกส่งตัวกลับสถานีต้นทางเนื่องจากมีเอกสารไม่ครบถ้วน สำหรับผู้โดยสารชาวไทยหากมีเอกสารไม่ครบจะถูก กักตัวไว้ก่อนเช่นกัน จนกว่าจะมีการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกใบรับรองให้ครบถ้วนจึงจะสามารถเข้าเมืองได้
ทั้งนี้ ห้อง Holdroom ดังกล่าวจะถูกแบ่งเป็นห้องของผู้โดยสารชาวไทยและชาวต่างชาติแยกกัน โดย ห้อง Holdroom ของ Gate D3 สามารถรองรับผู้โดยสาร 88 รายและ ห้อง Holdroom ของ Gate D4 สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 60 ราย
นายกิตติพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไวรัส COVID-19 ทสภ. ได้ให้ความสำคัญในการดำเนินงานตามนโยบายการเว้นระยะห่างทางสังคม จึงได้ดำเนินการปรับเปลี่ยนการจัดวางเก้าอี้พักคอยผู้โดยสารตามจุดต่างๆ ภายในอาคารผู้โดยสาร อาทิ ภายใน Holdroom บริเวณหน้าเคาน์เตอร์ตรวจบัตรโดยสาร พื้นที่โถงผู้โดยสารทั้งขาเข้าและขาออก โดยได้ติดป้ายสัญลักษณ์ให้มีการเว้นระยะห่างที่บนเก้าอี้ นอกจากนี้ยังได้มีการกำหนดจุดยืนภายในลิฟท์ รวมทั้งกำกับดูแลให้ผู้ประกอบการร้านอาหารภายในอาคารผู้โดยสาร ปรับเปลี่ยนการจัดวางเก้าอี้ภายในร้านอาหารอาคารผู้โดยสาร และห้อง Canteen ที่ให้บริการกับพนักงาน ลูกจ้างและผู้ปฏิบัติงานใน ทสภ.เพื่อร่วมสนับสนุนการลดความเสี่ยงโดยเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) เพื่อให้เป็นไปตามมาตรการการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส COVID-19 เช่นกัน
ปัจจุบัน ทสภ. ได้มีการยกระดับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเขื้อไวรัส COVID-19 โดยได้ทำการคัดกรองอุณหภูมิร่างกายผู้โดยสารทุกคนที่เดินทางเข้ามายังประเทศไทย (Entry Screening) ด้วยเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายระบบอินฟราเรด (Thermoscan) รวมถึงมีการตรวจคัดกรองอุณหภูมิร่างกายของผู้ที่จะผ่านเข้ามาภายในอาคารผู้โดยสารทุกคน (Terminal Screening) อีกทั้งให้ความสำคัญในการใส่ใจดูแลรักษาความสะอาด โดยได้มีการเพิ่มรอบความถี่ในการทำความสะอาดทุกพื้นที่ ทุกจุดต่างๆ ภายในท่าอากาศยาน ทั้งในส่วนของผู้โดยสารขาเข้าและขาออกแบบ Deep Cleaning อย่างต่อเนื่องทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง โดยเน้นการใช้น้ำยาทำความสะอาดฆ่าเชื้อ สูตรของสถาบันบำราศนราดูร เช็ดทำความสะอาดบริเวณพื้นที่จุดสัมผัสต่างๆ เช่น ห้องน้ำ ลิฟต์ บันไดเลื่อน รถเข็นกระเป๋าสัมภาระผู้โดยสาร เคาน์เตอร์ให้บริการสายการบิน เคาน์เตอร์ประชาสัมพันธ์ เคาน์เตอร์ตรวจหนังสือเดินทาง สายพานตรวจค้น เป็นต้น ทั้งนี้ ทสภ. ขอความร่วมมือผู้โดยสาร ผู้ใช้บริการทุกท่านโปรดสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้ง เมื่อเข้ามาภายในอาคารผู้โดยสาร เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้บริการท่าอากาศยานด้วย

Please follow and like us:
0 Comments

Boss

Reply your comment

Your email address will not be published. Required fields are marked*

RSS
Follow by Email
YouTube
LinkedIn
Share
Instagram