สังคมคนเป็นข่าว

กระจ่างแล้ว ช้างน้อยตายเพราะ…..

30052562-5

เจ้าหน้าที่ผ่าพิสูจน์ซากลูกช้างป่าอ่างฤไนแล้ว ชี้สาเหตุการตายน่าจะมาจากการจมน้ำ ส่วนรอยกระสุนที่พบเผย อยู่ในตำแหน่งที่ไม่สำคัญ ซึ่งโดนยิงมานานแล้วไม่น่าเป็นสาเหตุของการตาย

 

จากกรณีที่พบลูกช้างป่าเขาอ่างฤไน ตายอืดภายในป่ายางพารา ลำน้ำคลองตะเกรา ชาวบ้านเทพประทาน หมู่ที่ 8 ตำบลคลองตะเกรา อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา ไปก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่ได้นำลูกช้างไปผ่าพิสูจน์ซากยังเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไน
ล่าสุดวันนี้ (30 พ.ค.62 ) นายวีระพงศ์ โคระวัตร หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน เปิดเผยว่า ทีมสัตวแพทย์ ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 (ศรีราชา) เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไน และเจ้าหน้าที่ทหารพรานกองร้อยทหารพราน ที่ 1306 เข้าตรวจสอบพื้นที่ จากการตรวจสอบพื้นที่น้ำบริเวณจุดที่ลูกช้างตายเป็นคลองน้ำธรรมชาติมีแอ่งน้ำลึก 2.25 เมตร มีลักษณะตลิ่งชัน มีต้นธูปฤๅษีขึ้นหนาแน่น พบร่องรอยโขลงช้างโดยรอบบริเวณ
ซึ่งจากการตรวจสอบชันสูตร พบซากลูกช้างป่า เพศเมีย จำนวน 1 ตัว สูง 117 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 800 -​900 กิโลกรัม บริเวณใบหน้า ใบหูทั้งสองข้าง ลำคอ ใต้ท้อง และหาง มีร่องรอยอักเสบ แดง ฟกช้ำ พบบาดแผลบริเวณลิ้น และพบอาการบวม อักเสบ สันนิษฐานว่าเกิดจากการที่โขลงช้างป่า พยายามดันตัวลูกช้างป่าให้ขึ้นจากน้ำ และพบว่าลิ้นเป็นแผลซึ่งอาจเกิดจากการที่ลูกช้างป่าใช้ปากคาบต้นธูปฤๅษีซึ่งอยู่ที่บริเวณโดยรอบ

เจ้าหน้าที่ฯ ได้ผ่าชันสูตรภายในลำคอพบเศษตะกอนดิน และของเหลวจำนวนมากคั่งอยู่ สันนิษฐานว่าเกิดจากการจมน้ำ เนื่องจากปอดมีลักษณะเปื่อยยุ่ย มีของเหลวและเลือดในปอด สันนิษฐานว่าเกิดจากการจมน้ำ และพบว่าอวัยวะภายในช่องท้องอื่นๆ ได้แก่ ตับ ไต ลำไส้ กระเพาะอาหาร ค่อนข้างเน่า นอกจากนี้พบลูกเหล็กทรงกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 8 มม. จำนวน 1 เม็ด บริเวณกล้ามเนื้อช่วงกลางลำตัว แต่ไม่ได้ทะลุถึงช่องท้องหรือช่องอก มีเนื้อเยื่อเข้ามาปกคลุมกระสุนเล็กน้อย สันนิษฐานว่าโดนยิงมาแล้วเป็นระยะเวลาประมาณ 1 เดือน แต่ไม่โดนจุดสำคัญของร่างกาย ซึ่งไม่น่าเป็นสาเหตุของการตาย

ส่วนสาเหตุการตายจากการชันสูตร และสภาพแวดล้อม สันนิษฐานว่าเกิดจากการจมน้ำ ทีมสัตวแพทย์จึงได้ทำการเก็บตัวอย่างอวัยวะเพื่อทำการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจหาความผิดปกติของเนื้อเยื่ออวัยวะภายใน และตรวจหาโรคติดต่อสำคัญในช้าง เลือดที่ปนอยู่ในน้ำบริเวณใกล้ปากของลูกช้างป่า พบว่าเป็นเลือดที่ไหลออกมาจากแผลบริเวณลิ้น และออกมาจากปอด

ด้านนายวีระพงศ์ โคระวัตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ลูกช้างป่าตัวดังกล่าวนี้ไม่ได้เป็นลูกช้างป่าพลัดหลง บริเวณเขาดิน บ้านหนองปลาซิว ม.8 ต.ท่าตะเกียบ อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา แต่อย่างใด เนื่องจากลูกช้างป่าตัวดังกล่าวนี้มีลักษณะที่เตี้ยกว่า ( ส่วนสูง 117 ซม.)​ และเป็นลูกช้างป่าที่อยู่กับโขลงช้างป่า โดยลูกช้างป่าพลัดหลง บริเวณเขาดิน บ้านหนองปลาซิว ม.8 ต.ท่าตะเกียบ อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา นั้น จะมีส่วนสูงโดยประมาณ 130 -​140 ซม. ซึ่งน่าจะมีอายุประมาณ 8 เดือน ถึง 1 ปี เนื่องจากถ้าเป็นลูกช้างป่าอายุ 4 -​5 เดือน จะไม่สามารถดำรงชีวิตได้นานโดยไม่ได้รับนมจากแม่ช้างป่า

ขอบคุณข้อมูล : สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่2ศรีราชา

#DNP1362
ภาพ-ข่าว/ วิชัย ต่อเชื้อ ผู้สื่อข่าวจังหวัดฉะเชิงเทรา

RALANEWS

Please follow and like us:
0 Comments

mongko

Reply your comment

Your email address will not be published. Required fields are marked*

RSS
Follow by Email
YouTube
LinkedIn
Share
Instagram