ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิซ้อมแผนตอบโต้ภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ (PHEIC) กรณีโรคติดต่อที่มีอาหารเป็นสื่อ : โรคลิสเทริโอซิส (Listeriosis)
ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ร่วมกับกรมควบคุมโรค และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดฝึกซ้อมแผนตอบโต้ภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ (PHEIC) กรณีโรคติดต่อที่มีอาหารเป็นสื่อ : โรคลิสเทริโอซิส (Listeriosis)
เพื่อให้ทุกส่วนงานเตรียมพร้อมรองรับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างความมั่นใจในด้านการแพทย์และสาธารณสุขให้กับผู้โดยสารและผู้ใช้บริการ
พ.ต.กมล วงศ์สมบุญ รองผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (สายปฏิบัติการ 2) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) เปิดเผยว่า วันนี้ (25 มิถุนายน 2562) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ได้จัดฝึกซ้อมแผนตอบโต้ภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ (PHEIC) จำลองสถานการณ์กรณีโรคติดต่อที่มีอาหาร เป็นสื่อ : โรคลิสเทริโอซิส (Listeriosis) ในรูปแบบ Table – Top Exercise
วัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องเข้าใจบทบาทหน้าที่ ความรับผิดชอบตามที่กำหนดไว้ในแผนฯ และสามารถนำไปปฏิบัติในสถานการณ์จริงได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีนายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค ให้เกียรติบรรยายในเรื่องสถานการณ์โรคและภัยสุขภาพที่สำคัญ การฝึกซ้อมในปีนี้ได้จำลองสถานการณ์ว่า มีการตรวจพบผู้โดยสารป่วยมีอาการของระบบทางเดินอาหารเนื่องจากได้รับเชื้อแบคทีเรียลิสทีเรีย โมโนไซโตจีเนส หรือ โรคลิสเทริโอซิส (Listeriosis) ซึ่งเป็นผู้ป่วยประเภทที่ได้รับเชื้อมาจากประเทศต้นทางและมาแสดงอาการป่วยก่อนที่อากาศยานจะลงจอด ณ ทสภ. นอกจากนี้ผู้โดยสารได้ซุกซ่อนแคนตาลูปในกระเป๋าเดินทางจำนวน 4 ลัง และลักลอบนำแคนตาลูปจำนวน 1 ตัน ผ่านทางคลังสินค้า ทสภ. อีกด้วย
การฝึกซ้อมครั้งนี้มีการวางแผนร่วมกันเป็นอย่างดี มีการดำเนินงานตอบโต้ภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์และสาธารณสุขได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดความร่วมมือระหว่างเครือข่ายในการใช้แผนตอบโต้ โดยการฝึกซ้อมมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย คณะทำงานพัฒนาสมรรถนะช่องทางเข้าออกประเทศ ทสภ. ผู้เข้าร่วมสังเกตการณ์จากหน่วยงานภายนอกประมาณ 85 คน อาทิ ผู้แทนสถาบันบำราศนราดูร ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ผู้แทนกรมวิชาการเกษตร ผู้แทนกรมการบินพลเรือน ผู้แทนสำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค ผู้แทนด่านตรวจพืช ทสภ. ผู้แทนด่านอาหารและยาคลังสินค้า ทสภ. ผู้แทนบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด ผู้แทนสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ ผู้แทนสำนักงานศุลกากรตรวจสินค้า ทสภ. ผู้แทนคณะกรรมการดำเนินงานธุรกิจการบินกรุงเทพ ฯลฯ เข้าร่วมการฝึกซ้อมในครั้งนี้อย่างพร้อมเพรียง
พ.ต.กมล กล่าวเพิ่มเติมว่า การฝึกซ้อมแผนฯ ถือเป็นการพัฒนาสมรรถนะด้านหนึ่งตามข้อกำหนดของกฎอนามัยระหว่างประเทศ พ.ศ.2548 โดยขับเคลื่อนผ่านคณะทำงานพัฒนาสมรรถนะช่องทางเข้าออกประเทศภายใต้กฎอนามัยฯ ทสภ. โดยการฝึกซ้อมครั้งนี้ทุกหน่วยงานสามารถประสานการปฏิบัติงานร่วมกันแบบบูรณาการได้อย่างดี จนทำให้การฝึกซ้อมเป็นไปอย่างเรียบร้อย ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ อย่างไรก็ตาม ภายหลังการฝึกซ้อมได้มี การประเมินผลความผิดพลาดเพื่อปรับปรุงแผนให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น เพื่อให้สามารถนำไปปฏิบัติหากเกิดเหตุการณ์จริงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
RALANEWS