สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีนกำลังกลับปะทุดุเดือดขึ้นมาอีก ภายหลังสงบศึกกันมาหลายเดือน มิหนำซ้ำยังวอชิงตันยังพุ่งเป้าเล่นหนักกิจการแชมเปี้ยนด้านเทเลคอมของแดนมังกรอย่างบริษัทหัวเว่ย ทำให้การเผชิญหน้ากันระหว่างมหาอำนาจทางเศรษฐกิจทั้งสองยิ่งบานปลาย จนยังไม่แน่ใจกันว่าจะกลับมาเจรจาต่อรองกันใหม่ได้เมื่อใด ขณะเดียวกันจากการพิพาทที่ดำเนินมาด้วยความครึกโครมและยืดเยื้อเช่นนี้ ก็ได้เผยให้เห็นความขัดแย้งระหว่างสองฝ่ายอันล้ำลึก จนมองกันว่าถ้าวอชิงตันกับปักกิ่งสามารถหวนคืนมาทำข้อตกลงยุติศึกกันได้ในที่สุด ก็น่าจะเป็นการเลิกรากันแค่ชั่วคราว ไม่ใช่การยุติความเป็นศัตรูคู่แข่งกันระหว่างยักษ์ใหญ่สองรายนี้
จีนใช้น้ำเสียงที่แข็งกร้าวขึ้นมากในการทำสงครามการค้ากับสหรัฐฯ โดยพูดเป็นนัยๆ ในวันศุกร์ (17 พ.ค.) ที่ผ่านมาว่า การจัดการเจรจาทางการค้าระหว่างทั้งสองประเทศขึ้นมาอีก จะเป็นสิ่งที่ไร้ความหมาย ตราบใดที่วอชิงตันไม่ยอมเปลี่ยนแปลงแนวทาง
คำพูดอันดุดันเช่นนี้นับเป็นจุดพีคของช่วงระยะเวลา 1 สัปดาห์เศษแห่งความเสื่อมทรุดในความสัมพันธ์ของ 2 ชาติที่เป็นเจ้าของระบบเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 1 และอันดับ 2 ของโลก เริ่มตั้งแต่สหรัฐฯบังคับใช้การขึ้นพิกัดศุลกากรสินค้าเข้าจากจีนเพิ่มเติมขึ้นอีกครั้ง หลังระงับเอาไว้ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ทางด้านจีนก็แถลงใช้มาตรการเดียวกันตอบโต้เอากับสินค้าอเมริกัน ขณะที่การเจรจาต่อรองทำดีลการค้ากันเป็นรอบที่ 11 ของทั้งสองฝ่ายยุติลงด้วยความล้มเหลว แล้วจากนั้นสหรัฐฯก็ใช้มาตรการอันหนักหน่วงที่อาจถึงขั้นทำให้เดี้ยงกันได้ทีเดียว เล่นงานหนึ่งในบริษัทใหญ่ที่สุดและประสบความสำเร็จสูงที่สุดของจีน
ลู่ คัง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน เมื่อถูกถามเกี่ยวกับรายงานต่างๆ ทางสื่อของรัฐจีนซึ่งพูดอ้อมๆ ว่าจะไม่มีการเจรจาทางการค้ากันต่อไปอีกแล้ว เขาก็ตอบว่าจีนส่งเสริมสนับสนุนให้แก้ไขข้อพิพาทที่มีอยู่กับสหรัฐฯด้วยการสนทนาและการปรึกษาหารือกันเสมอมา
“แต่สืบเนื่องจากสิ่งต่างๆ อันชัดเจนซึ่งฝ่ายสหรัฐฯได้กระทำเอาไว้ในระหว่างการหารือทางการค้าจีน-สหรัฐฯครั้งก่อนๆ เราจึงเชื่อว่าถ้าจะทำให้การพูดจาเหล่านี้มีความหมายแล้ว พวกเขาจะต้องแสดงให้เห็นถึงความจริงใจ” เขาตอบในการแถลงข่าวประจำวันของกระทรวง
ทางด้าน ซีเอ็นบีซี โทรทัศน์ช่องข่าวการลงทุนและเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ก็รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวหลายรายบอกว่า การเจรจาทางการค้านี้หยุดชะงักลงแล้ว ส่วนการหารือรอบต่อไปนั้น “ยังไม่มีความแน่นอน”
ขณะที่คณะผู้แทนของจีนกำลังจะเดินทางมาเจรจาเป็นรอบที่ 11 ในกรุงวอชิงตันเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ก็ใช้ทวิตเตอร์โจมตีแดนมังกรว่าเบี้ยวคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ ในการหารือรอบก่อนๆ การทำดีลกันเป็นไปอย่างล่าช้า ดังนั้นสหรัฐฯจึงต้องกลับมาขึ้นภาษีศุลกากรกับสินค้าเข้าของจีนกันใหม่ โดยประกาศเริ่มบังคับใช้การขึ้นภาษีเอากับสินค้าจีนมูลค่า 200,000 ล้านดอลลาร์เป็นอัตรา 25% จาก 10% กันในตอนนาฬิกาเดินย่างเข้าวันศุกร์ (10) ทั้งๆ ที่ตามกำหนดการที่ตกลงกันไว้ การเจรจาการค้ารอบที่ 11 จะคุยกันในวันพฤหัสบดี (9) และวันศุกร์ (10)
ปรากฏว่าการเจรจาได้จบลงโดยไม่มีข้อตกลงใดๆ แล้วในวันจันทร์ (13) ปักกิ่งก็ตอบโต้โดยแถลงว่าจะปรับขึ้นภาษีสินค้าเข้าของสหรัฐฯเป็นมูลค่า 60,000 ล้านดอลลาร์ในอัตราตั้งแต่ 5% จนถึง 25% ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายนเป็นต้นไป ประธานาธิบดีอเมริกันจึงออกมาแถลงย้ำคำขู่ที่เคยพูดเอาไว้ นั่นคือบอกว่าเขากำลังพิจารณาที่จะขึ้นภาษีเอากับสินค้าเข้าของจีนมูลค่าอีกราว 300,000 ล้านดอลลาร์ที่ยังเหลืออยู่ไม่ได้ถูกปรับพิกัดอัตราศุลกากรเลย
ไม่เพียงเท่านั้นในวันพุธ (15) ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหาร ประกาศ “ภาวะฉุกเฉินแห่งชาติ” ที่ให้อำนาจเขาในการขึ้นบัญชีดำบริษัทต่างๆ ซึ่งเห็นว่า “สร้างความเสี่ยงอย่างไม่อาจยอมรับได้แก่ความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ” นี่คือการแผ้วถางทางให้แก่การสั่งห้ามบริษัทกิจการทั้งหลายของสหรัฐฯซื้อผลิตภัณฑ์หรือเทคโนโลยีของผู้ที่ถูกขึ้นบัญชีนั่นเอง คำสั่งนี้ไม่ได้มีการระบุชื่อบริษัทหรือประเทศใดๆ แต่เป็นที่เข้าใจกันอย่างชัดเจนว่ามุ่งใช้เล่นงานบริษัทหัวเว่ย
ในวันเดียวกันนั้น กระทรวงพาณิชย์อเมริกันยังได้ใช้มาตรการอีกอย่างหนึ่งเล่นงานหัวเว่ย โดยคราวนี้ไม่มีการปิดบังอำพรางอะไรแล้ว กล่าวคือ ขึ้นใส่ชื่อบริษัทยักษ์ของจีนแห่งนี้เอาไว้ในบัญชีดำซึ่งห้ามบริษัทต่างๆ ของสหรัฐฯขายหรือถ่ายโอนเทคโนโลยีอเมริกันให้ ยกเว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตเป็นการเฉพาะจากกระทรวง
“นี่จะเป็นการป้องกันเทคโนโลยีอเมริกันไม่ให้ถูกบุคคลหรือกิจการของต่างชาตินำไปใช้ในทางที่อาจบ่อนทำลายความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯหรือผลประโยชน์ด้านนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯ” วิลเบอร์ รอสส์ รัฐมนตรีพาณิชย์บอก
เห็นกันว่า มาตรการอย่างหลังนี้เป็นตัวที่ฟาดโครมใส่หัวเว่ยอย่างหนักหน่วงยิ่งกว่าคำสั่งบริหารของทรัมป์เสียอีก เนื่องจากในเวลานี้หัวเว่ยก็แทบไม่ได้ขายอะไรสักเท่าใดในสหรัฐฯอยู่แล้ว ขณะที่รายรับแทบทั้งหมดมาจากในจีนและภูมิภาคอื่นๆ ของโลก
แต่สำหรับการห้ามบริษัทสหรัฐฯขายอะไรให้หัวเว่ยนั้น อาจทำให้บริษัทจีนแห่งนี้เดือดร้อนมาก เนื่องจากถึงแม้หัวเว่ยและกระทั่งทางการจีนได้พยายามเตรียมทางหนีทีไล่ ด้วยการเร่งหันมาผลิตชิ้นส่วนต่างๆ เกี่ยวกับเทคโนโลยี 5 จีกันในแดนมังกร ทว่าเป็นเพราะระบบห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมเทค แต่ไหนแต่ไรก็มีการกระจายการผลิตชิ้นส่วนไปตามที่ต่างๆ ดังนั้น หัวเว่ยจึงยังต้องซื้อจากบริษัทอเมริกันไม่ใช่น้อยๆ
ขณะนี้พวกผู้เชี่ยวชาญยังถกเถียงกันอยู่ว่า แชมเปี้ยนเทเลคอมของจีนรายนี้ซึ่งครองฐานะทั้งเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์การสื่อสารโทรคมนาคมรายใหญ่ที่สุดในโลก และผู้ผลิตเครื่องโทรศัพท์สมาร์ทโฟนขายดีเป็นอันดับ 2 ของโลก จริงๆ แล้วจะเจ็บหนักแค่ไหน บางฝ่ายเห็นว่าอาจถึงกับเดี้ยงไปไม่เป็นกันทีเดียว แต่บางฝ่ายยังคิดว่าน่าจะพอประคองตัวแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าไปได้ แล้วเร่งรัดการผลิตชิ้นส่วนภายในจีนเองในระยะยาว นอกจากนั้นยังเชื่อด้วยว่า คณะบริหารทรัมป์น่าจะไม่กล้าทำอะไรตึงตังรุนแรง เพราะพวกบริษัทผลิตชิ้นส่วนของสหรัฐฯจะต้องย่ำแย่เช่นกัน เมื่อเสียลูกค้ารายยักษ์อย่างหัวเว่ยไป
สมรภูมิเทคโนโลยี
เห็นกันได้ชัดๆ ว่า เมื่อสหรัฐฯนำเรื่องการทำสงครามการค้ากับจีน มาผนวกกับเรื่องการเล่นงานหัวเว่ย ปฏิกิริยาจากปักกิ่งก็ออกมาในทางแข็งกร้าวขึ้นมากมาย เนื่องจากทั้งสหรัฐฯและจีนต่างตระหนักดีว่า การต่อสู้เกี่ยวกับหัวเว่ยไม่ได้เป็นเพียงแค่ประเด็นความมั่นคงปลอดภัยด้านการสื่อสารโทรคมนาคมของสหรัฐฯเท่านั้น
อันที่จริงการเผชิญหน้ากันในเรื่องหัวเว่ยเป็นสิ่งที่สะสมพอกพูนมากขึ้นเรื่อยๆ มาเป็นแรมปีแล้ว ขณะที่บริษัทจีนรายนี้ประสบความสำเร็จในการแข่งขันจนสามารถนำหน้าพวกคู่แข่งไปไกลในเรื่องการพัฒนาระบบสื่อสารไร้สาย 5 จี ซึ่งจะทำให้สามารถรับส่งข้อมูลข่าวสารกันได้มากมายและรวดเร็วยิ่งกว่าในปัจจุบันอย่างมหาศาล อันจะผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งทางเทคโนโลยีและเศรษฐกิจกระทั่งวิถีชีวิตของผู้คนไปสู่อีกยุคสมัยหนึ่ง
สหรัฐฯเชื่อว่าหัวเว่ยได้รับการหนุนหลังจากกองทัพจีน และอุปกรณ์ของบริษัทนี้เปิดช่องให้หน่วยข่าวกรองของปักกิ่งมีประตูหลังที่จะเจาะเข้าไปเครือข่ายการสื่อสารของบรรดาประเทศคู่แข่ง
ขณะเดียวกัน วอชิงตันมองว่าการก้าวผงาดขึ้นมาของหัวเว่ย มีความหมายในเชิงสัญลักษณ์อันเด่นชัดเท่ากับการที่จีนเร่งผลักดันตนเองเข้าช่วงชิงความเป็นผู้นำทางเทคโนโลยีและทางเศรษฐกิจของโลกจากสหรัฐฯ
ในสายตาของวอชิงตัน การเร่งรัดผลักดันของจีนอาศัยการปฏิบัติต่างๆ ที่สหรัฐฯเห็นว่าเป็นการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้องชอบธรรม เป็นต้นว่า การใช้มาตรการอุดหนุนอย่างมากมายและการปกป้องคุ้มครองแก่อุตสาหกรรมต่างๆ ที่ทรงความสำคัญทางยุทธศาสตร์ ตลอดจนการดำเนินโครงการโจรกรรมเทคโนโลยีอเมริกันอย่างเป็นระบบ
“จีนกำลังกลายเป็นคู่แข่งขันที่น่าเกรงขาม และพวกผู้นำของจีนก็มีความชัดเจนในเจตนารมณ์ของพวกเขาที่จะเข้าแทนที่สหรัฐฯ ซึ่งพวกเขามองเห็นว่ากำลังอยู่ในภาวะเสื่อมถอย แล้วจัดแจงสร้างระเบียบกฎเกณฑ์ระดับโลกและสถาบันต่างๆ ระดับโลกขึ้นมาใหม่เพื่อตอบสนองผลประโยชน์ต่างๆ ของจีน” เจมส์ ลิวอิส ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและข่าวกรองแห่ง ศูนย์เพื่อยุทธศาสตร์และการระหว่างประเทศศึกษา (CSIS) คลังสมองชื่อดังซึ่งตั้งฐานอยู่ในกรุงวอชิงตัน พูดเช่นนี้ขณะไปให้ปากคำต่อคณะกรรมาธิการของรัฐสภาสหรัฐฯเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
“จีนได้พัฒนาโมเดลเพื่อนวัตกรรมและการลงทุนที่เป็นโมเดลคู่แข่ง (ของสหรัฐฯ) ขึ้นมา โดยที่ได้รับเงินทุนอุดหนุนเป็นอย่างดีและมีทิศทางที่รวมศูนย์เอาไว้ที่ส่วนกลาง ความเป็นผู้นำทางเทคโนโลยีของสหรัฐฯจึงไม่ใช่อยู่ในฐานะไร้ข้อโต้แย้งอีกต่อไปแล้ว” เขากล่าว
ไมเคิล เฮียร์สัน ผู้อำนวยการฝ่ายเอเชียของบริษัทที่ปรึกษา ยูเรเชีย กรุ๊ป พูดให้ความเห็นว่า เวลานี้เมื่อพูดกันถึงความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯกับจีนโดยรวม มีบางคนใช้คำว่า “สงครามเย็น” ซึ่งเขาเห็นว่าเป็นคำที่แรงเกินไป ทว่าถ้านำคำนี้มาพูดถึงการแข่งขันทางด้านเทคโนโลยีของสองประเทศนี้แล้ว เขามองว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องมากขึ้นเรื่อยๆ
เขากล่าวต่อไปว่า การพิพาทกันเกี่ยวกับหัวเว่ย แท้จริงแล้วเป็นอาการที่แสดงออกมาของการแข่งขันทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ดุเดือดเข้มข้น
“ความเป็นศัตรูกันในลักษณะนี้ ยากลำบากแก่การแก้ไขคลี่คลายยิ่งกว่าพวกประเด็นการค้าแท้ๆ มากมายนัก”
ขอขอบคุนภาพ/ข่าว MGR ONLINE