อาชญากรรม

ชาวบ้านพึงพอใจรัฐแก้ปัญหาลักลอบทิ้งขยะอุตสาหกรรมใน จ.สระแก้ว นักวิชาการระบุ ขยะทั้งหมดเป็นขยะอุตสาหกรรมอันตราย ต้องประกาศห้ามใช้น้ำผิวดินในรัศมีที่กำหนด

10072562

ชาวบ้านส่วนหนึ่งพอใจหน่วยงานรัฐแก้ปัญหาลักลอบทิ้งขยะอุตสาหกรรมในพื้นที่ พร้อมเรียกร้องให้ตรวจสอบ เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเข้าไปมีส่วนรู้เห็น ด้านนักวิชาการชี้ ขยะทั้งหมด เป็นขยะอุตสาหกรรมอันตรายที่ผิดกฎหมายต้องนำไปกำจัด และหน่วยงานทางด้านสาธารณสุข จะต้องทำการตรวจประเมินและพิจารณาประกาศห้ามประชาชนใช้น้ำผิวดิน น้ำใต้ดิน น้ำบ่อตื้นในรัศมีที่กำหนดด้วย

เมื่อวันที่ 9 ก.ค.62 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังนายวิชิต ชาติไพสิฐ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว, สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด, กรมควบคุมมลพิษ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ตรวจสอบปัญหาการลักลอบนำขยะอุตสาหกรรมและขยะอิเลคทรอนิกส์ เข้ามาในพื้นที่เขตป่าโซนซี เขาซับพลู-เขาภูหีบ พื้นที่บ้านหนองแก ม.8 ต.ตาหลังใน อ.วังน้ำเย็น จ.สระแก้ว จำนวนกว่า 300 ตัน เป็นเวลาเกือบ 2 เดือน

ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้วได้สั่งการให้มีการตั้งคณะกรรมการโดยมีท้องถิ่น อำเภอ อุตสาหกรรมและหน่วยงานอื่น ๆ ร่วมแก้ปัญหาโดยต้องควบคุมดูและให้ผู้รับเป็นเจ้าของกิจการขนย้ายขยะออกจากพื้นที่ภายใน 15 วัน เพื่อให้กรมควบคุมมลพิษเข้าตรวจสอบอีกครั้ง โดยก่อนหน้านี้ทาง ตม.สระแก้วได้ดำเนินคดีฐานใช้แรงงานต่างด้าว 41 คน โดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน, กรมป่าไม้ดำเนินคดีฐานบุกรุกป่า ,กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ดำเนินคดีฐานขุดเจาะบาดาลโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พรบ.ป่าไม้ พรบ.ป่าสงวน และพรบ.น้ำบาดาบ ซึ่งล่าสุด สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดได้แจ้งความดำเนินคดีผิด พรบ.โรงงาน ฐานเคลื่อนย้ายขยะอันตรายโดยไม่ได้รับอนุญาตด้วย

ทั้งนี้ จากการสอบถามแกนนำชาวบ้านในพื้นที่ ต.ตาหลังใน อ.วังน้ำเย็น จ.สระแก้ว เปิดเผยว่า เบื้องต้นชาวบ้านส่วนหนึ่งพอใจหน่วยงานรัฐในการแก้ปัญหาลักลอบทิ้งขยะอุตสาหกรรมในพื้นที่ ซึ่งจะต้องมีการควบคุมตรวจสอบการขนย้ายขยะให้เสร็จสิ้นภายในเวลาที่กำหนดเพื่อฟื้นฟูให้พื้นที่กลับมาอยู่ในสภาพเช่นเดิม รวมทั้งเรียกร้องให้มีการตรวจสอบเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นซึ่งเข้าไปมีส่วนรู้เห็นกับการนำขยะอุตสาหกรรมเข้ามาในพื้นที่ด้วย

ทางด้าน อ.สนธิ คชวัฒน์ นักวิชาการด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและอาจารย์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ตามที่เจ้าหน้าที่อุตสาหกรรมจังหวัดสระแก้วอ้างว่า ขยะอิเล็กทรอนิกส์ เช่น แผ่นวงจรไฟฟ้า จอคอมพิวเตอร์ สายไฟฟ้า ลวดทองแดงที่ปะปนอยู่กับขยะประเภทโฟม เศษโลหะและพลาสติกที่นำมาทิ้งในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ หมู่ 8 ตำบลตาหลังใน อำเภอวังน้ำเย็น จังหวัดสระแก้ว มีปริมาณน้อยมากไม่ถึง 1 ตัน ซึ่งจากขยะทั้งหมดจึงถือว่าขยะกองนี้ทั้งหมดไม่ใช่ขยะอันตรายนั้น น่าจะเป็นตรรกะที่ผิด เนื่องจากประกาศของกรมโรงงาน พ.ศ.2548 กำหนดให้ของเสียจากอุปกรณ์ไฟฟ้าและอีเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นชิ้นส่วนที่เป็นอันตรายที่ถอดแยกจากอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ไม่ใช้งานแล้ว (รหัส16 02 15 HA) เป็นของเสียอันตรายที่ต้องส่งไปกำจัดในโรงงานประเภท 101 หรืออาจส่งไปคัดแยกและไปรีไซเคิลในโรงงานประเภท 105 และ106 เท่านั้น ดังนั้นขยะที่นำมากองทิ้งไว้บริเวณป่าอนุรักษ์โซนซีดังกล่าว จึงเข้าข่ายเป็นกองขยะอุตสาหกรรมอันตรายที่ผิดกฎหมายต้องนำไปกำจัด เช่น การฝังกลบอย่างปลอดภัย (Secure Landfill)

อ.สินธิ กล่าวอีกว่า ตามประกาศกรมโรงงาน พ.ศ.2548 ได้กำหนดห้ามนำกากอุตสาหกรรมทุกชนิด ทั้งที่เป็นอันตรายและไม่เป็นอันตรายขนออกนอกโรงงาน ต้องส่งไปกำจัดในโรงงานประเภท 101 หรือ ประเภท 105 หรือ 106 เท่านั้น รวมทั้งกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบของโรงงานที่ส่งกากออกไปบำบัด จะต้องทําการตรวจสอบชนิดและปริมาณกากอุตสาหกรรมให้ถูกต้อง ก่อนขนออกและต้องมีภาระความรับผิด (liability) ในกรณีกากสูญหาย เกิดอุบัติเหตุ การทิ้งผิดที่ หรือการลักลอบทิ้งในระหว่างทาง จนกว่าโรงงานที่รับบำบัดกากอุตสาหกรรมดังกล่าว จะตรวจรับและเซ็นต์รับกากอุตสาหกรรมนั้นไว้ในการครอบครอง

 

ดังนั้น หากโรงงานในจังหวัดระยองที่ประมูลกากอุตสาหกรรมมาจากโรงงานในนิคมเหมราช ไม่ได้จดทะเบียนเป็นโรงงานประเภท 105 โรงงานในนิคมเหมราชจะต้องทำการ Clean up และฟื้นฟูสภาพแวดล้อมให้กลับมาดังเดิมทั้งหมด รวมทั้งต้องดำเนินคดีกับบริษัทในจังหวัดระยองที่ลักลอบนำกากมาทิ้งไว้ แต่หากบริษัทในจังหวัดระยองได้จดทะเบียนเป็นโรงงานประเภท 105 แล้ว และนำกากมาทิ้งก็ต้องรับผิดชอบแทนทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม นักวิชาการรายนี้ ยังระบุด้วยว่า ขยะอิเลคทรอนิกส์และเศษวัสดุจากโรงงานบดย่อยรถยนต์ที่นำมากองทิ้งไว้ พบว่า หากฝนตกลงมา จะชะล้างเอาสารพิษประเภทโลหะหนักออกมามากกว่า 15 ชนิด เช่น ตะกั่ว ปรอท โครเมี่ยม นิกเกิล แคดเมี่ยม เหล็ก เป็นต้น โลหะหนักเหล่านี้ จะถูกปนเปื้อนลงไปในน้ำผิวดิน น้ำบ่อตื้นและน้ำใต้ดิน ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนอย่างมาก ดังนั้น หน่วยงานทางด้านสาธารณสุข จะต้องทำการตรวจประเมินและพิจารณาถึงการที่ต้องประกาศห้ามประชาชนใช้น้ำผิวดิน น้ำใต้ดิน น้ำบ่อตื้นในรัศมีที่กำหนดต่อไปด้วย…

นายยุทธนา พึ่งน้อย/ผู้สื่อข่าวจังหวัดสระแก้ว..

 

Please follow and like us:
0 Comments

mongko

Reply your comment

Your email address will not be published. Required fields are marked*

RSS
Follow by Email
YouTube
LinkedIn
Share
Instagram